กระดูกสันหลังที่ยืดหยุ่น เรา จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การฝึกชุดท่าอาสนะของโยคะ คือการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังไปในทิศทางต่างๆเท่าที่จะเคลื่อนได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ทิศทางคือ 1) การแอ่นกระดูกไปด้านหลัง 2) การก้มกระดูกสันหลังไปด้านหน้า 3) การบิดกระดูกสันหลัง และ 4) การ เอียงกระดูกสันหลัง เมื่อมนุษย์เคลื่อนไหวกระดูกสันหลังไปในทิศทางที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอทุก วัน ผลก็คือ การมีกระดูกสันหลังที่ยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึงการมีกระดูกสันหลังที่ทำงานได้เป็นปกติ สิ่งสำคัญอีกประการที่เกี่ยวเนื่องกับ กระดูกสันหลังคือ ระบบประสาท เพราะกระดูกสันหลังถือเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่งในการดูแลให้ระบบประสาททำงาน ได้เป็นปกติ ผู้ที่รักษากระดูกสันหลังของตนเองให้เป็นปกติ ก็คือผู้ที่กำลังดูแลระบบประสาทของตนให้ทำงานได้เป็นปกตินั่นเอง ระบบไหลเวียนของเลือดที่ทำงานได้เป็นปกติ โดยใช้พลังงานน้อยมาก ตลอด เวลาของการฝึกท่าอาสนะ ผู้ฝึกจะรับรู้ถึงการไหลเวียนของเลือดได้อย่างชัดเจน เช่น บางขณะ ก็รู้สึกเลือดไปออคั่ง ณ จุดใดจุดหนึ่ง รับรู้ถึงสัญญาณชีพจรที่เต้นจนรู้สึกได้ที่จุดนั้นๆ บางท่าทำแล้วรู้สึกอุ่น หรือรู้สึกชาทันที อันล้วนเป็นกลไกของระบบไหลเวียนของเลือดทั้งสิ้น นอกจากนั้น เราทำท่าอาสนะสลับการพักโดยตลอด และทุกครั้งที่พัก เราก็จะรับรู้ถึงผลการไหลเวียนของเลือด ที่เกิดขึ้นจากท่าที่เพิ่งทำผ่านไปอย่างชัดเจน จะเห็นได้เลยว่าอาสนะก็เป็นการกระตุ้น ให้ระบบไหลเวียนของเลือดทำงานตามส่วนต่างๆของร่างกาย โดยการทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเป็นส่วนๆตามแต่ละท่า ผลที่เกิดขึ้นกับระบบไหลเวียนของเลือด จากอาสนะ จึงมิได้ด้อยไปกว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (ที่มุ่งเน้นให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยวทั่วร่างกาย) เลย แต่ที่ต่างกันมากก็คือ การออกกำลังกาย เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ขณะที่อาสนะนั้น เน้นให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเฉพาะอวัยวะสำคัญๆภายในช่องท้อง ช่องทรวงอก และศีรษะเท่านั้น ไม่เน้นที่กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา หรือเราสามารถกล่าวได้ว่า ท่าอาสนะให้ประโยชน์ต่อระบบไหลเวียนของเลือดได้ไม่แพ้การออกกำลังกาย แต่ใช้แรงน้อยกว่ากันมาก โดยไม่ต้องให้หัวใจรับภาระ ขณะเดียวกัน เพราะอาสนะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อแขน ขา มากมาย จึงไม่เกิดกรดแลคติค ที่ส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าหลังฝึก ธรรมชาติของอาสนะข้อนี้ ทำให้โยคะสามารถฝึกได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต่างไปจากการออกกำลังกาย ที่ผู้ปฏิบัติต้องมีร่างกายที่แข็งแรงพอสมควรเป็นพื้นฐานเสียก่อน ที่สำคัญ เราจะพบว่า ลักษณะของการทำอาสนะคือ การเก็บ การสงวนพลังงาน ไม่ใช่การโหมใช้พลังงานแบบการออกกำลังกาย ผู้ฝึกอาสนะเสร็จ จึงมีความรู้สึกสดชื่น พร้อมที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน ต่างจากผู้ออกกำลังกายเสร็จ ที่เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และต้องการที่จะพัก การกดนวดอวัยวะสำคัญๆ ภายในช่องลำตัว ใน บรรดาศาสตร์เพื่อการดูแลร่างกายมนุษย์อย่างพึ่งตนเอง ดูก็จะมีเพียงอาสนะเท่านั้น ที่ทำให้เกิดการกดนวด อวัยวะต่างๆภายในช่องท้อง ช่องทรวงอก และศีรษะ การกดนวดอวัยวะภายใน มีแนวโน้มที่จะทำให้กลไกการทำงานของอวัยวะของระบบต่างๆ ทำงานได้ดี ทำงานได้เป็นปกติ เช่น การกดนวดท้องน้อยของท่าตั๊กแตน ที่เอื้อต่อการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ที่ส่งผลให้กลไกระบบขับถ่ายของผู้ฝึกดีขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่าโยคะมุทรา ซึ่งมีความหมายว่า สัญลักษณ์แห่งโยคะ ทำให้เกิดการกดนวดตามจุดต่างๆอันเป็นที่ตั้งของต่อมไร้ท่อได้อย่างครบถ้วน กล่าวคือ ลักษณะเด่นมากอันหนึ่งในการทำอาสนะ คือการดูแลกลไกการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ให้เป็นปกตินั่นเอง จากลักษณะสำคัญ 3 ประการ ที่ยกมาข้างต้น คือ กระดูกสันหลัง การไหลเวียนของเลือด และ การกดนวดอวัยวะภายใน เมื่อพิจารณาลึกลงไป จะพบว่า ระบบที่ได้รับการดูแลจากท่าอาสนะคือ ระบบประสาท ระบบไหลเวียนของเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน (ซึ่งทำงานควบคู่ไปกับระบบเลือด) และระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งทั้ง 3 ระบบ นี้ คือองค์ประกอบสำคัญของกลไก โฮมีโอสตาซิส หรือการจัดปรับสมดุลภายในร่างกายนั่นเอง ยิ่งเมื่อพิจารณาหลักการสำคัญของโยคะคือความสมดุล จึงน่าจะเป็นการเหมาะสมที่จะกล่าวว่า อาสนะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพกายของผู้ฝึก คือ การสร้าง และจัดปรับสมดุล ของการทำงานของระบบต่างๆภายในร่างกาย เป็นการเหมาะสมกว่าที่จะกล่าวว่า กุญแจสำคัญของอาสนะคือ โฮมีโอสตาซิส ข้อสรุปนี้ ดูจะตรงกับลักษณะธรรมชาติของอาสนะมากกว่า ที่จะใช้กรอบของการออกกำลังกายแบบแอโรบิคมาอธิบายอาสนะ กล้ามเนื้อก็ได้ประโยชน์ แต่เป็นกล้ามเนื้อลึกชั้นใน รูปธรรมที่สร้างความสับสน ทำให้คนมองอาสนะเป็นการออกกำลังกายก็คือกล้ามเนื้อ เราควรมีทัศนคติต่อเรื่องนี้อย่างไร โยคะมองความสำคัญของร่างกายที่อวัยวะสำคัญๆ ศัพท์เฉพาะที่ใช้คือ vital organs ซึ่งหมายถึง อวัยวะที่สำคัญถึงชีวิต อวัยวะเหล่านี้ ล้วนอยู่ในช่องท้อง ช่องทรวงอก ศีรษะ ทั้งสิ้น ขณะที่โยคะเรียกแขน ขาว่า แขนง (limps) อันหมายถึงสิ่งที่ไม่มีก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ท่าอาสนะล้วนมุ่งเน้นที่กล้ามเนื้อที่ประกอบอยู่กับอวัยวะที่สำคัญถึงชีวิต ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อซี่โครง กระบังลม กล้ามเนื้อลึกชั้นในที่ทำหน้าที่พยุงกระดูกสันหลัง ฯลฯ ที่สำคัญที่สุด ธรรมชาติของท่าอาสนะ คือนิ่ง นั่นหมายถึงว่า อาสนะไม่ใช่การออกกำลังกายแบบ ไอโซโทนิค ขณะเดียวกัน อาสนะก็เตือนให้เราคอยระลึกถึงการใช้แรงแต่น้อย ซึ่งชี้ว่า อาสนะ ก็ไม่ใช่การออกกำลังกายแบบ ไอโซเมตริกด้วย สำหรับเรื่องกล้ามเนื้อแล้ว ดูเหมือนอาสนะอยากให้เราพัฒนา มัสเซิลโทนมากกว่า คือ ทำอย่างไร ให้เราอยู่ในอิริยาบถหนึ่งๆได้นาน โดยใช้แรงน้อยที่สุด ยิ่งเมื่อพิจารณาจากตำราดั้งเดิม ที่ระบุว่า เป้าหมายแห่งอาสนะคืออาสนะชัย คือ "การนั่งนิ่ง หลังตรง เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ต่อเนื่องกันโดยไม่เมื่อย" (พูดภาษาไทยก็คือ การนั่งสมาธิให้ได้ 3 ชั่วโมงนั่นเอง) ก็จะยิ่งเห็นความสำคัญของ มัสเซิลโทนในอาสนะมากกว่าตัวอื่นๆ จึงเป็นการเหมาะสมกว่า หากจะสรุปว่า กุญแจสำคัญของกล้ามเนื้อในอาสนะคือ การพัฒนามัสเซิลโทน ระบบประสาท - กล้ามเนื้อสัมพันธ์ ประโยชน์สำคัญของอาสนะอีกประการหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่ละเลย คือ กลไกประสาท – กล้าม เนื้อสัมพันธ์ หากพิจารณาให้ดี ทุกๆการกระทำของมนุษย์ เป็นกระบวนการสื่อสารระหว่างสมองที่เป็นศูนย์สั่งการ และ กล้ามเนื้อที่เป็นผู้กระทำเสมอ เมื่อเราเติบโตขึ้น มีความสามารถกระทำสิ่งต่างๆได้อย่างชำนาญ มีความเคยชินจนกระทั่งละเลยความจริงข้อนี้ไป ปัญหาสุขภาพหลายประการมาจากการละเลยข้อเท็จจริงง่ายๆข้อนี้ เช่น คนตัวสูงที่ยืนก้มคอจนเป็นนิสัย และมีปัญหากระดูกต้นคอในภายหลัง หรือเช่น คนที่ก้มหลังเพื่อยกของหนัก จนทำให้หลังยอก สาระสำคัญในการทำอาสนะคือการเคลื่อนไหว ที่ช้า เพื่อให้ผู้ฝึก สามารถสำรวจรู้กลไก ความเป็นไป ระหว่างการทำงานของกล้ามเนื้อ กับ การทำงานของประสาท ผู้ที่ฝึกโยคะจนชำนาญ ก็จะพัฒนาความรู้ตัวต่อกลไกนี้ได้มากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการมีสุขภาพที่เป็นปกติของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน ไม่ให้โครงสร้างร่างกายของตนเองผิดปกติ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองบาดเจ็บจากอิริยาบถในชีวิตประจำวัน เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของโยคะ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มุ่งพัฒนามนุษย์ในทุกๆมิติอย่างเป็นองค์รวม โดยให้ความสำคัญกับจิตเป็นหลัก การตีความกุญแจสำคัญของอาสนะ ว่าหมายถึง โฮมีโอสตาซิส ว่าหมายถึง มัสเซิลโทน ดูจะสอดคล้อง ตรงตามตำราดั้งเดิม ตรงตามเป้าประสงค์ของโยคี ผู้คิดค้นและพัฒนาศาสตร์นี้ โดยหวังจะพามนุษย์ไปสู่ ความสมดุลของกาย ความนิ่งของลมหายใจ ความสงบของจิต เพื่ออิสระหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง |