อำเภอ หนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นภูมิลำเนาที่มีหญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติมากที่สุดในประเทศ จากข้อมูลของสำนักทะเบียนอำเภอหนองวัวซอระบุว่าในปี 2549 มีการจดทะเบียนสมรสจำนวน 280 คู่ และในปี 2550 จำนวน 239 คู่ ซึ่งไม่รวมกับอีกหลายๆ คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน จากการที่มีชาวต่างชาติมาอยู่ในท้องถิ่นมากขึ้นทุกปี “โรงพยาบาลหนองวัวซอ” จึงได้จัดทำ “การวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องผลกระทบของหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ” เพื่อค้นหาปัจจัยและสาเหตุของการแต่งงาน ข้อดีและข้อเสีย รวมไปถึงผลกระทบในด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ผลจากการวิจัยดังกล่าวได้เกิดการพัฒนาในพื้นที่เป็น เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ภาคส่วนคือ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคราชการและการเมือง ร่วมกันดำเนินการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “สิทธิสตรีอีสานในสังคมไทยกรณีเมียฝรั่ง” เพื่อแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหา การให้บริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมแก่หญิงไทยและสามีชาวต่างชาติ ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าปัญหาที่หญิงไทยวิตกกังวลกันมากที่สุดก็คือ “สุขภาพ” ของสามีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องของ “กรุ๊ปเลือด” กรณีเจ็บป่วยต้องการเลือดจะเกิดปัญหา เพราะกรุ๊ปเลือดของฝรั่งที่แตกต่างจากคนไทย นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองวัวซอ กล่าวว่า โดยปกติแล้วระบบเลือดจะแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักคือเลือดกรุ๊ป A, B และ O ส่วนกลุ่มรองคือ Rh- และ Rh+ ซึ่งชาวต่างชาติจะพบว่ามีกรุ๊ปเลือดกลุ่ม Rh- มากถึงร้อยละ 20-30 ของประชากร ส่วนชาวไทยพบเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ทางแก้ปัญหาคือ “โครงการธนาคารเลือดในตัวคน” ซึ่งแต่เดิมโรงพยาบาลหนองวัวซอมีแนวคิดจัดทำ “คลังเลือด” ในชุมชนอยู่แล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจึงนำเรื่องของเลือดกรุ๊ปพิเศษเหล่านี้ รวมเข้าไปด้วยโดยจะพัฒนาให้เป็นเครือข่ายระดับประเทศ “ปัญหาระยะสั้นก็คือการหาเลือดกรุ๊ป Rh- ให้กับผู้ที่เสียเลือด ส่วนในระยะยาวก็คือหญิงไทยที่แต่งงานแล้วมีกรุ๊ปเลือดเป็น Rh+ ส่วนสามีเป็น Rh- เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมา ถ้าลูกมีเลือดเป็น Rh- เหมือน พ่อก็จะทำให้เลือดของลูกในท้องไม่เข้ากับแม่ จะทำให้เด็กมีปัญหาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในบ้านเราอาจจะมีปัญหาที่คุกคามต่อสุขภาพของคน ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นทางด้านโรคทางพันธุกรรม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดต่อเช่นโรคเรื้อนและวัณโรค โรคที่เกิดจากการใช้วิถีชีวิตที่ต่างกัน รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้เรายังมองไปถึงในอนาคตกรณีที่มีเด็กลูกครึ่งที่มีกรุ๊ปเลือดพิเศษ จำนวนมากขึ้น ซึ่งทางทีมงานของโรงพยาบาลมีแนวคิดที่จะการศึกษาถึงปัญหาต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือ” นพ.ทวีรัชต์ระบุ น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลหนองวัวซอ เปิดเผยว่าจากการวิจัยในด้านปัญหาสุขภาพ พบว่าเรื่องกรุ๊ปเลือดเป็นปัญหาใหญ่ของชาวต่างชาติกับคนไทยที่แตกต่างกัน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยและจำเป็นต้องให้เลือดจะมีปัญหามาก โดยเฉพาะถ้ามีกรุ๊ปเลือดเป็น Rh- ซึ่งเป็นเลือดที่หาได้ยาก ภรรยาชาวไทยก็มีความกังวลว่าถ้าสามีเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่มีเลือดให้ หากเสียชีวิตขึ้นมาก็จะไม่มีใครดูแล “ปัญหา ดังกล่าวทำให้เกิดการระดมความคิด จนเกิดโครงการธนาคารเลือดขึ้นมา โดยธนาคารเลือดจะอยู่ที่ตัวบุคคล ด้วยการทำฐานข้อมูลว่าชาวต่างชาติแต่ละคนมีกรุ๊ปเลือดอะไร อยู่ที่ไหน ติดต่ออย่างไร เก็บไว้ที่โรงพยาบาล ซึ่งกำลังจะพัฒนาจัดทำเป็นเว็ปไซต์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อเขาต้องการกรุ๊ปเลือดต่างๆเหล่านี้ หากเกิดอุบัติเหตุต้องการเลือดก็สามารถค้นหาข้อมูลจากธนาคารเลือดได้ ซึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหาให้กับฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ไม่เพียงแต่อำเภอหนองวัวซอ ยังรวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด และจังหวัดอื่นๆทั่งประเทศไทยก็สามารถใช้งานได้ถ้าต้องการหาหรือใช้เลือด กรุ๊ปนี้” น.ส.มัลลิการะบุ น.ส.ประภัสสร ดวงลาพิมพ์ หรือ “ปิ๊ก” สาวไทยวัย 32 ปีที่แต่งงานกับหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษวัย 50 ปี Mr. David Kennedy หรือ “เดฟ” เล่าว่าหลังจากคบหาดูใจพูดคุยผ่านสื่อรักออนไลน์ประมาณ 1 ปี จึงตัดสินใจแต่งงาน และกลับมาอยู่บ้านที่อุดรธานี โดยไม่คิดว่าสามีซึ่งเป็นชาวต่างชาติจะต้องประสบกับปัญหาเรื่องกรุ๊ปเลือด กับการรักษาพยาบาล จนกระทั่งเดฟประสบอุบัติเหตุจนข้อมือหักต้องทำการผ่าตัด แต่กว่าที่จะได้รับการรักษาก็กินเวลาไปค่อนเดือน และต้องย้ายโรงพยาบาลถึง 3 ครั้ง “มาทราบทีหลังจากคุณหมอที่ขอนแก่นว่า ทางนี้อาจจะกลัวในเรื่องของการผ่าตัด เพราะเดฟเองก็มีกรุ๊ปเลือดพิเศษ Rh- ซึ่งหายากมากทำให้ถูกปฏิเสธการรักษา” น.ส.ประภัสสร ระบุ ด้าน น.ส.โสภา เรวบุตร สาวไทยวัย 42 ปี ภรรยาของ Mr. Wolfgang Gennert สามีชาวเยอรมันวัย 66 ปี เล่าอย่างน้อยใจถึงรัฐสวัสดิการต่างๆ มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติว่า “เขา มาแต่งงานกับเรา มาอยู่เมืองไทย เขาก็เอาเงินทองมาใช้จ่ายในบ้านเราปีหนึ่งๆ ไม่น้อย จึงอยากให้มีสวัสดิการการรักษาพยาบาลเทียบเคียงกับคนไทย” หัว หน้ากลุ่มงานพยาบาลฯ ยังระบุว่าชาวต่างชาติที่มาอยู่ที่อุดรธานีหลายคนก็ไม่ได้มาอยู่เฉยๆ มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย ผ่านเว็ปไซต์ www.udonmap.com ทั้งดูแลเด็กพิการในท้องถิ่น หรือการช่วยสอนภาษาต่างประเทศ “เด ฟและเพื่อนๆ ก็สนใจและสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์มาตลอด ตอนนี้ก็เป็นอาสาสมัครช่วยโรงพยาบาลหนองวัวซอสอนภาษาอังกฤษให้กับเจ้า หน้าที่ของโรงพยาบาลทุกสัปดาห์วันละ 2 ชั่วโมง และยังสอนพิเศษให้กับเด็กๆ ด้วย เพื่อนของเดฟอีกคนหนึ่งก็อาสามาช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ กับทางโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงน่าจะได้รับการให้บริการที่เท่าเทียมกัน” น.ส.ประภัสสร กล่าว “ใน อนาคตเราไม่รู้ว่าประเทศไทยอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางบ้านพักคนชราสำหรับชาว ต่างชาติ หญิงไทยที่มีอายุน้อยๆ ที่แต่งงานกับฝรั่งอายุมากจะมีความรู้สึกอย่างไรถ้าสามีเสียชีวิตไปทั้งๆ ที่ตัวเองอายุยังน้อย การใช้ชีวิตที่มีความแตกต่างกันทั้งอายุและลักษณะการใช้ชีวิตร่วมกันจะเป็น อย่างไร รวมถึงการดูแลฝรั่งที่เจ็บป่วยของหญิงไทย เพราะบางคนไม่รู้ว่าป่วยมารู้หลังจากแต่งงานกันไปแล้ว ตรงนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้หญิงไทยต้องแบกรับภาระต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำการศึกษาวิจัยต่อไป” หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลหนองวัวซอ กล่าวสรุป. |
ผมรบกวนขอเบอร์โทรคุณ ประภัสสร ดวงลาพิมพ์ด้วยครับ
ตอบลบ